ข้อมูลทั่วไป
ข้อมูลทั่วไป
10 มิถุนายน 2566

0


ประวัติอำเภอวิภาวดี

อำเภอวิภาวดี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอคีรีรัฐนิคม ต่อมาเมื่อปี  2526 ได้มีมติที่ประชุมสภาตำบลตะกุกเหนือและตำบลตะกุกใต้ร่วมกันขอแยกตำบลตะกุกเหนือและตำบลตะกุกใต้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอใหม่ โดยดำเนินการไปตามลำดับขั้น เสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย และได้ทำหนังสือทูลไปยัง หม่อมเจ้าปิยะ รังสิต   เพื่อขอตั้งชื่อ กิ่งอำเภอวิภาวดีซึ่งเป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิภาวดี รังสิต   ที่เคยเสด็จประทับ ณ ตำบลตะกุกเหนือ (หมู่ที่ 1 บ้านท่านหญิงวิภา) และตำบลตะกุกใต้ (หมู่ที่ 8 บ้านวังผักแว่น) หลายครั้งในช่วงปี 2515 – 2517

กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศแบ่งเขตการปกครองท้องที่อำเภอคีรีรัฐนิคม เป็นกิ่งอำเภอวิภาวดี  ประกอบด้วยตำบลตะกุกเหนือและตำบลตะกุกใต้ ตั้งแต่วันที่   1   เมษายน   พ.ศ . 2535      และประกาศเพิ่มเติมในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่มที่ 46 ก ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ยกฐานะเป็นอำเภอวิภาวดี ตั้งแต่วันที่  8  กันยายน 2550 เป็นต้นมา

 

 

ลักษณะทางภูมิศาสตร์

ขนาดที่ตั้ง

อำเภอวิภาวดี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ 70 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 529.25 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 330,781 ไร่

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อ   อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง, อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทิศใต้             ติดต่อ   อำเภอพุนพิน , อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทิศตะวันออก     ติดต่อ   อำเภอท่าฉาง, อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ทิศตะวันตก      ติดต่อ   อำเภอคีรีรัฐนิคม, อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

ลักษณะภูมิประเทศ

พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเทือกเขาและที่ราบสูง มีที่ราบลุ่มประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด แบ่งเป็นป่าเตรียมการสงวนหมายเลข 92 ประมาณร้อยละ 60 เขตนิคมสหกรณ์ท่าฉาง ประมาณร้อยละ 20 และสวนผลไม้/ที่อยู่อาศัย ประมาณร้อยละ 20 มีแม่น้ำและลำธารหลายสาย แม่น้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำคลองยัน ไหลผ่านพื้นที่เป็นระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร ซึ่งไหลผ่านทั้งตำบลตะกุกเหนือและตำบลตะกุกใต้  

 

ลักษณะภูมิอากาศ

ภูมิอากาศของอำเภอวิภาวดีส่วนใหญ่เป็นแบบร้อนชื้น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยและลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย มี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน (พฤษภาคม มกราคม) และฤดูร้อน (กุมภาพันธ์ เมษายน) มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,900 มิลลิเมตร อุณหภูมิมีค่าเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ประมาณ 28.5 องศาเซลเซียส

 

ข้อมูลประชากร

อำเภอวิภาวดี มีประชากรทั้งหมด 15,150 คน เพศชาย 7,873 คน เพศหญิง 7,277 คน ความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ย 28 คนต่อตารางกิโลเมตร อัตราเพิ่มของประชากร ร้อยละ 0.83   จำนวนหลังคาเรือน 6,371 หลังคาเรือน รายละเอียดดังตาราง ที่ 1 และตารางที่ 2

ตารางที่ 1 จำนวนหลังคาเรือน และประชากรกลางปี 2560 อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ตำบล      จำนวนหมู่บ้าน       จำนวนหลังคาเรือน               จำนวนประชากร

                                                ชาย         หญิง       รวม

ตำบลตะกุกใต้       14           2,525     3,079     2,937     6,016

ตำบลตะกุกเหนือ  17           4,294     4,881     4,460     9,341

รวม         31           6,819     7,960     7,397     15,357

 

การปกครอง

แบ่งเขตการปกครอง ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2475 เป็น 2 ตำบล 31 หมู่บ้าน คือ ตำบลตะกุกเหนือ 17 หมู่บ้าน และตำบลตะกุกใต้ 14 หมู่บ้าน เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน  2 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลตะกุกเหนือ และองค์การบริหารส่วนตำบลตะกุกใต้

 

โครงสร้างพื้นฐาน

   การคมนาคม

          อำเภอวิภาวดี  ไม่มีถนนของทางหลวงแผ่นดินตัดผ่าน   การติดต่อคมนาคมกับอำเภอใกล้เคียง ใช้ถนน รพช. ซึ่งมีเส้นทางที่ติดต่อได้ 4 เส้นทางดังนี้

           1.ถนนลาดยาง รพช. จากอำเภอท่าฉาง(สี่แยกควนรา) ตำบลเสวียด ถึงอำเภอวิภาวดี    ระยะทาง ประมาณ 25 กิโลเมตร

             2.ถนนลาดยาง  รพช. จากสี่แยกคลองวัว  อำเภอท่าฉาง  ถึงอำเภอวิภาวดี  ระยะทางประมาณ  32  กิโลเมตร

             3.ถนนลาดยาง รพช. สลับกับถนนดินลูกรัง จากบ้านหนองไทร อำเภอพุนพิน ถึงอำเภอวิภาวดี ระยะทางประมาณ  45  กิโลเมตร

             4.ถนนลาดยาง รพช. จากอำเภอคีรีรัฐนิคม ถึงอำเภอวิภาวดี ระยะทางประมาณ  30  กิโลเมตร

 

     การสื่อสาร

             1.อำเภอวิภาวดี ไม่มีที่ทำการไปรษณีย์ มีเฉพาะที่ทำการไปรษณีย์ที่ได้รับอนุญาตของเอกชนจำนวน 2 แห่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของที่ทำการไปรษณีย์อำเภอคีรีรัฐนิคม

              2.มีระบบคู่สายโทรศัพท์  และระบบโทรศัพท์สาธารณะ และโทรศัพท์ทางไกลสาธารณะแต่ไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่

 

      การไฟฟ้า

              ประชากรของอำเภอวิภาวดี มีไฟฟ้าใช้ 31 หมู่บ้าน (แต่ละหมู่มีไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์) และไม่มีไฟฟ้าใช้ จำนวน 1 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 15 บ้านบางจำ ตำบลตะกุกเหนือ

 

       การประปา

               อำเภอวิภาวดี มีระบบประปาขนาดใหญ่พิเศษ จำนวน 2 ที่ บริการน้ำครอบคลุม จำนวน  178 หลังคาเรือน 5 หมู่บ้าน และประปาขนาดเล็ก 2 ที่  ผู้ใช้น้ำ 32 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่ใช้น้ำฝน น้ำบ่อ ในการอุปโภคและบริโภค และใช้น้ำคลองในการเกษตร

 

       เศรษฐกิจ

                เศรษฐกิจของอำเภอวิภาวดีขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนกาแฟ และสวนไม้ผล ประชากรมีรายได้เฉลี่ย   29,165  บาทต่อคนต่อปี

 

สถาบันการเงิน

              อำเภอวิภาวดี  มีสถาบันการเงินของราชการ 2 แห่ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน ไม่มีธนาคารพานิชย์

 

การท่องเที่ยว

           อำเภอวิภาวดี มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยม  ได้แก่

            1.    น้ำตกวิภาวดี (น้ำตกคลองพาย) อยู่ห่างที่ว่าการอำเภอวิภาวดีประมาณ 25 กิโลเมตร ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลตะกุกใต้ ในเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธ์สัตว์ป่าคลองยัน  และหน่วยจัดการต้นน้ำตาปี มีน้ำตกจำนวน 9 ชั้น

             2.    น้ำตกโกกกาก (คลองชุน) ตั้งอยู่ที่บ้านคลองชุน หมู่ที่ 13 ตำบลตะกุกเหนือ ห่างจากที่ว่าการอำเภอวิภาวดี ประมาณ 15 กิโลเมตร ใต้น้ำตกมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่

             3.    อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 บ้านคลองใส ตำบลตะกุกเหนือ มีความหลากหลายทางชีวภาพติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก

              4.    น้ำตกบางจำ บ้านบางจำ หมู่ที่ 15 ตำบลตะกุกเหนือ เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยป่าไม้เหมาะสำหรับเดินป่าและล่องแก่ง

 

   ด้านสังคม

             ลักษณะโครงสร้างทางสังคม ส่วนใหญ่เป็นสังคมด้านการเกษตร การตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายไปตามแหล่งที่ประกอบอาชีพ มีประเพณีที่สำคัญ เช่น วันวิภาวดีรำลึก วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ของทุกปี ประเพณีล่องแก่งแต่งงาน วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นต้น

 

การศึกษา

             การศึกษาในระบบโรงเรียน มีตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา แยกเป็นสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 จำนวน 10 โรง สังกัดกรมตำรวจ 1 โรง โรงเรียนเอกชน 1 แห่ง

 

การศึกษานอกระบบโรงเรียน

             การจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในปัจจุบัน  นอกเหนือจากการให้การศึกษาในระบบโรงเรียนแล้ว  ยังมีการศึกษาอีกประเภทหนึ่งที่สามารถให้ประชาชนที่พลาดโอกาสทางการศึกษา ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในวิชาที่ตนเองถนัดหรือศึกษาเพิ่มเติมในวิชาชีพที่ตนเองกำลังดำเนินการอยู่  ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  นั่นคือ การศึกษานอกระบบโรงเรียนซึ่งในอำเภอวิภาวดี มีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอวิภาวดี

 

ศาสนา

              ประชาชนในอำเภอวิภาวดีส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีศาสนสถาน คือ วัด 3 แห่ง และสำนักสงฆ์ 5 แห่ง ดังนี้

              1.      วัดโพธิ์น้อย

               2.      วัดอรัญญาราม

               3.      วัดวิภาวดี

               4.      สำนักสงฆ์ตะโปตาวัน

                5.      สำนักสงฆ์โพธิ์พนา

                6.      สำนักสงฆ์บ้านท่านหญิง

                7.      สำนักสงฆ์บ้านคลองวาย

                8       สำนักสงฆ์บ้านคลองใส